หลังจากที่ผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง Ethereum 2.0 ไป กระแสตอบรับค่อนข้างดี ต้องขอบคุณทุกคอมเมนต์และการแชร์ด้วยนะครับ เป็นกำลังใจที่ดีที่สุดเลย

วันนี้เลยอยากมาเขียน insight อีกเรื่องนึงของ Ethereum ที่เชื่อว่าหลายๆคนยังงง อ่านมาหลายบทความก็ยังงงอยู่ ตัวผมเองก็งงอยู่พักใหญ่ๆ นั่นก็คือ Ethereum Layer 2 ครับ

หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินคำเหล่านี้ครับ Optimism เอย Arbitrum เอย Sidechain เอย ZK-Rollup เอย มันคืออะไร จำแนกประเภทยังไง ต่างกันยังไง เดี๋ยววันนี้ผมจะมาสรุปให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายครับ เหมือนเดิมเลย ผมมีการอธิบายคำศัพท์เฉพาะไว้ทั้งหมด ยาวนิดหน่อย มือใหม่อ่านได้ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเล้ยยย โกโก 

หัวข้อในบทความนี้ประกอบไปด้วย
1) จุดกำเนิด Ethereum Layer 2
2) Ethereum Layer 2 คือ?
3) Ethereum 2.0 กับ Ethereum Layer 2 ต่างกันยังไง?
4) Ethereum Layer 2 แบ่งเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

1. จุดกำเนิด Ethereum Layer 2

🟢 จริงๆแล้วทุก Blockchain ที่เราใช้งานกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum หรือเหรียญต่างๆ เราจะเรียกมันว่าเป็น Blockchain Layer 1 มันคือโครงสร้างพื้นฐานหลักๆที่แต่ละ Blockchain ใช้ในการบันทึกธุรกรรมลงบนบล็อคและตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ มันเปรียบเสมือนเป็นถนนเส้นหลักที่ทุกคนใช้งานกันนั่นเอง

🟢 พอ Blockchain นั้นๆมีผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น จำนวนธุรกรรมภายในระบบก็มากขึ้น ก็เปรียบเสมือนจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนถนนที่มากขึ้น ผลที่ตามมาคืออะไรครับ รถติด ไปถึงจุดหมายช้ากว่าเดิม แถมยังเปลืองน้ำมันอีก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก็เหมือนกับ Blockchain Layer 1 ตัวแรกๆในวงการอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ครับ จำนวนธุรกรรมที่มาก แถมยังรองรับธุรกรรมได้น้อย ทำให้ธุรกรรมของเราล่าช้า แถมยังเสียค่า gas ที่แพงอีก

🟢 ทำให้ Blockchain ที่กำเนิดมารุ่นหลังๆอย่างเช่น Binance Smart Chain, Terra Chain, Solana Chain เห็นถึงปัญหาของ Blockchain รุ่นแรกๆว่า ที่มันทำธุรกรรมได้ช้า ก็เพราะมันรองรับธุรกรรมได้น้อย ถนนมันเล็กนิดเดียวเองเลนสองเลน รถติดเปลืองน้ำมันกันไปหมด

🟢 Blockchain เหล่านี้ก็คงคิดครับว่า ถนนพวกนั้นมีแค่เลนสองเลน! พวกเราก็สร้างถนนสี่เลนห้าเลนไปเลยสิ! รถจะได้วิ่งได้เร็วขึ้น ถึงที่หมายเร็วขึ้น แถมยังไม่เปลืองน้ำมันอีก นั่นทำให้ Blockchain รุ่นหลังๆให้ความสำคัญกับ “การรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น” ทั้งนั้นเลยครับ ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรมเร็วขึ้น และค่าธรรมเนียมถูกสุดๆ

🟢 แล้ว Blockchain รุ่นปู่ๆอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum หละ สร้างถนนมาแล้ว จะให้ทุบถนนทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ก็ไม่ได้เดือดร้อนไปทั้งหมด พวกเขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาครับว่า “ ถ้าเราสร้างถนนใหม่ไม่ได้ เราก็สร้างทางด่วนเลยสิ จะได้ระบายรถจากถนนหลักไปบางส่วนด้วย “ นี่แหละครับจึงเป็นต้นกำเนิดของ Ethereum Layer 2

2. Ethereum Layer 2 คืออะไร

🟣 Ethereum Layer 2 คือ Blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกันกับ Layer 1 ซึ่งจะทำให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีขึ้น ลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม รวมถึงการทำธุรกรรมที่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเปรียบ Layer 1 เป็นถนนเส้นหลัก Layer 2 ก็คือทางด่วนที่วิ่งบนถนนเส้นหลักนั่นเองครับ ลองนึกภาพว่า จากถนนสองเลน (Ethereum Layer 1) กลายเป็นสี่เลนหรือห้าเลน (Ethereum Layer 2) มันช่วยระบายรถได้มากมายขนาดไหน ไม่ต้องมารอรถติด ไม่ต้องมาเปลืองน้ำมันด้วย

🟣 ซึ่ง Etherum Layer 2 ก็จะแบ่งได้อีกหลายๆประเภทเลยครับ ทั้ง Layer 2 ที่ทำงานไปพร้อมกับ Layer 1, Layer 2 ที่ทำงานอิสระจาก Layer 1 รวมถึง Layer 2 ที่ช่วยงาน Layer 1 ให้เสร็จเร็วยิ่งขึ้น โดยตรงนี้ผมจะนำไปพูดอีกทีในหัวข้อที่ 4. ครับ

3. Ethereum 2.0 กับ Ethereum Layer 2 ต่างกันยังไง?

🟠 พูดถึงข้อที่เหมือนกันก่อนครับ โดยทั้ง Ethereum 2.0 และ Ethereum Layer 2 มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการการรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น ค่าธรรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ถูกลง และการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

🟠 ความแตกต่างคือ Ethereum 2.0 นั้นมีจุดประสงค์ระยะยาวคือ การเปลี่ยนวิธีการยืนยันธุรกรรมจาก Proof of Work ให้กลายเป็น Proof of Stake ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้มันรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น ค่าธรรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ถูกลง และทำให้เครือข่ายมีความยั่งยืนที่มากขึ้น ส่วน Ethereum Layer 2 จะเป็นการสร้างอีก Blockchain ที่ทำงานร่วมกันได้ เพื่อแก้ไขในเรื่องของการรองรับการทำธุรกรรม และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่สูง

🟠 เรียกได้ว่า จุดประสงค์เดียวกัน แต่กระบวนการแก้ปัญหาคนละรูปแบบกัน หรือจะเปรียบก็ได้ว่า Ethereum Layer 2 คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น-กลาง และ Ethereum 2.0 จะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ได้เหมือนกันครับ

❓แล้วถ้าการอัพเกรด Ethereum 2.0 สำเร็จ แล้ว Ethereum Layer 2 ยังจำเป็นอยู่ไหม

🟠 จากที่ผมไปข้อมูลมา มันจะมี Ethereum Layer 2 บางประเภทที่ได้ไปต่อ และ Layer 2 วิธีนี้จะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของ Ethereum 2.0 อีกด้วย ส่วน Layer 2 ที่ไม่ได้ไปต่อ ก็ต้องดูจากฐานผู้ใช้งาน, DApps ที่รันอยู่ในนั้น, ความเป็นที่นิยมของ DApps รวมถึงค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ซึ่งถ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ Ethereum 2.0 สามารถทำได้ดีกว่าทั้งหมด Layer 2 ประเภทที่เหลือก็อาจจะตกรอบไปก็ได้นั่นเองครับ

4) Ethereum Layer 2 แบ่งเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

🔵 ก่อนจะไปถึงว่า Ethereum Layer 2 มีอะไรบ้าง ผมขอเกริ่นถึงเรื่องเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของ Ethereum Layer 2 ก่อนนะครับ โดยจะแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

4.1) Plasma (ใช้ EVM และเป็น Off-chain)4.2) Validium (ไม่ใช้ EVM และเป็น Off-chain)
4.3) Optimistic Rollup (ใช้ EVM และเป็น On-chain)
4.4) ZK-Rollup (ไม่ใช้ EVM และเป็น On-chain)

🔵 งงกันใช่มั้ยครับ ศัพท์เฉพาะเต็มไปหมด มา! ผมขออธิบายคำศัพท์เฉพาะทั้งหมดก่อนครับ โดยเริ่มจากคำว่า Off-chain และ On-chain ก่อน

📌 Off-chain คือ Blockchain ที่ถูกแยกออกมา เพื่อเป็น Blockchain ที่ทำงานขนานไปกับ Blockchain หลัก ซึ่งในที่นี้ก็คือ Ethereum Chain โดย Off-chain เปรียบเสมือนถนนอีกเส้นที่คู่ขนานกับถนนเส้นหลัก ซึ่งถนนเส้นหลักก็คือ Ethereum Chain ครับ

📌 On-chain คือ Blockchain ที่ทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain โดย On-chain เปรียบเสมือนเป็นถนนเลนใน และ Ethereum Chain เป็นเหมือนถนนเลนนอก ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือถนนเส้นเดียวกันแหละครับ แต่การที่มันมีถนนเลนในเพิ่มเข้ามา ก็จะทำให้ถนนหลักสามารถระบายรถยนต์ออกไปวิ่งอีกเส้นได้นั่นเองครับ

▫️ โดยความแตกต่างระหว่างสองเชนนี้คือ ทุกๆธุรกรรมภายใน Off-chain จะไม่ได้ถูกบันทึกลง Blockchain ของ Ehereum Chain ครับ ซึ่งก็เหมือนกับถนนสองเลน ที่แค่วิ่งคู่ขนานกันเฉยๆ แต่ยังไงสุดท้ายมันก็ไม่ใช่ถนนเส้นเดียวกันอยู่ดี Off-chain เลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ Ethereum chain เลย แต่ธุรกรรมภายใน On-chain จะถูกบันทึกลงบน Ethereum Chain ทั้งหมดเลย

▫️ ซึ่งการที่ทุกธุรกรรมใน On-chain นั้นถูกบันทึกใน Ethereum Chain ทั้งหมด มันเลยได้จุดเด่นในเรื่องของความปลอดภัย (Security) และการกระจายอำนาจ (Decentralized) นั่นเองครับ เพราะว่า On-chain เทียบง่ายๆก็ถือว่ายังอยู่ในการดูแลของ Ethereum Chain ทั้งหมดเลย Off-chain มันเลยมีจุดด้อยตรงที่มันไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว Ethereum Chain ครับ (ทำไมรู้สึกว่าคำมันเบียว 😂) ซึ่งทำให้มันมีโอกาสโดนแฮ็คเกอร์เข้ามาแฮ็คระบบได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ

📌 EVM ย่อมาจากคำว่า Ethereum Vitual Machine ซึ่งมันเป็นเหมือนซอฟแวร์ที่ไว้สำหรับให้นักพัฒนาสร้างแพลตฟอร์ม หรือ DApps ต่างๆบน Ethereum Chain นี่แหละครับ ซึ่งถ้า Blockchain Layer 2 ประเภทไหนที่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ นักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์ก็แค่นำ code ของ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้ต่อได้เลยใน Layer 2
▫️ จะต่างจาก Layer 2 ที่ไม่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ ถ้านักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์อยากที่สร้าง DApps มารันในเครือข่าย พวกเขาจะต้องเขียน smart contract เองใหม่ทั้งหมดเลย ไม่สามารถ copy code มาใช้งานได้นั่นเองครับ

รู้จักคำศัพท์เฉพาะทั้งหมดแล้ว มาครับ ไปเจาะลึกทีละประเภทกันดีกว่า

🔷 4.1) Plasma

▪️ Plasma ซึ่งก็คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่จะมี Blockchain แยกออกมาจาก Ethereum Chain หลัก (Off-chain) และภายใน Plasma นี้จะสามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้เลย (ใช้ EVM ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Plasma จะสามารถใช้ EVM ได้ และเป็น Off-chain นั่นเองครับ

▪️ คุณสมบัติพิเศษของ Plasma คือ มันสามารถสร้าง Blockchain แยกเป็น chain ย่อยๆได้ไม่จำกัดจำนวน จึงทำให้มันสามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น พร้อมกับค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง

▪️ แต่ข้อเสียของ Plasma คือ การจะถอนเงินออกจาก Plasma นั้นใช้เวลาหลายวันกว่าเงินจะเข้า wallets ของเราครับ ซึ่ง Layer 2 แบบ Plasma ที่ถูกใช้งานจริงในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ OmiseGo Network (Payment) และ LeverJ (DEXs)

🙌🏻 **เพิ่มเติม** Polygon (Matic) จะเรียกเป็นอีกประเภทว่า Sidechain ครับ ซึ่งหลักการทำงานของ Sidechain นั้นจะเหมือนกับ Plasma เลยครับ คือสามารถนำ EVM ไปใช้งานได้ และเป็น Off-chain เหมือนกัน แต่มันจะมีจุดที่ Sidechain ไม่เหมือนกับ Plasma ครับ

🙌🏻 Sidechains คือ Blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทๆนึง เพื่อใช้สำหรับการรับส่งธุรกรรมเฉพาะที่กำหนดเท่านั้น หรือเราจะเรียกๆกันว่า Private Blockchain นั่นเอง ถ้ายังไม่เห็นภาพผมจะยกตัวอย่างอย่างเช่น Ronin Bridge ก็จะเป็น Sidechain สำหรับใช้โอนหรือรับ AXS/SLP ภายในเกม Axie Infinity และใกล้ตัวสุดๆเลย Immutable X ก็จะเป็น Sidechain สำหรับรองรับการทำธุรกรรมภายในเกม Illuvium นั่นเองครับ (แต่ Immutable X จะเป็น Sidechain ประเภท Validium ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) ซึ่งแน่นอนว่าการทำธุรกรรมใน Sidechain นั้นเร็วสุดๆ และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็จะมีบริษัทนั้นๆคอยดูแลและแก้ไขได้อย่างทันทีครับ


🔷 4.2) Validium

▪️ Validium คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่จะมี Blockchain แยกออกมาจาก Ethereum Chain หลัก (Off-chain) แต่ภายใน Validium จะไม่สามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้ (ใช้ EVM ไม่ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Validium จะไม่สามารถใช้ EVM ได้ และเป็น Off-chain นั่นเองครับ

▪️ ซึ่งจุดเด่นของ Validium คือ มันสามารถรองรับธุรกรรมได้มากถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที และการถอนเงินออกจาก Validium นั้นไม่ต้องรอนานหลายวันเหมือนกับ Plasma ครับ

▪️ โดย Layer 2 ประเภท Validium ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ DeversiFi (DEXs), Sorare (NFT) และ Immutable X (ซึ่งเป็น Sidechain ประเภท Validium และให้บริการ NFT)

📍 ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มหรือ DApps ต่างๆที่ถูกนำไปใช้งานบน Plasma หรือ Validium จะไม่ได้ถูกเป็นที่พูดถึงและใช้งานกันมากถ้าเทียบกับ Layer 2 ประเภทอื่นที่ผมจะกล่าวในสองประเภทถัดไป ในมุมมองของผมอาจจะเพราะว่า ทั้ง Plasma หรือ Validium ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ Off-chain ทำให้นักลงทุนคงจะมองว่า ถ้าจะมาใช้ Ethereum Chain แต่ได้ความปลอดภัยไม่เท่า Ethereum Chian ก็คงไม่มีเหตุจูงใจให้ใช้งาน

📍 และอีกเหตุผลในแง่ของการใช้งาน คือ Plasma และ Validium ไม่ได้เป็น Global Network Chain จึงไม่ได้เปิดให้ใครก็ได้มารันระบบบนสองเชนดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นการบันทึกธุรกรรมเฉพาะของแอพพลิเคชั่นในบางตัวเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างซักเท่าไร

🔥 ซึ่งขอยกเว้น Polygon ไว้ตัวนึงครับ ที่มีผู้ใช้งานเยอะ จำนวนเม็ดเงินล็อคในระบบเยอะ (TVL) ผมมองว่าเพราะว่า ด้วยความที่ Polygon เป็น Sidechain ประเภท Plasma ที่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ จึงทำให้ใน Polygon มีแพลตฟอร์มมากมายที่มาจาก Ethereum เช่น AAVE, Curve, Sushiswap, Balancer ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ถือเป็นเจ้าตลาดจากทางฝัง Ethereum อยู่แล้ว จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่พอสมควร ไม่เหมือนกับประเภท Validium ที่ถ้าจะมาใช้งาน นักพัฒนาก็จะต้องเขียน smart contract ใหม่เองทั้งหมด เพราะไม่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้นั่นเองครับ แต่เราก็จะต้องรับความเสี่ยงถ้าวันนึง Polygon ถูกแฮ็คระบบและเงินลงทุนของเราโดนขโมยไป เนื่องจากไม่ได้ทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain ความปลอดภัยจึงไม่เท่ากันนั่นเองครับ

📍 ซึ่งถ้าจะให้ Layer 2 มีควาปลอดภัยมากขึ้น ก็ควรจะหันไปพึ่ง On-chain ใช่ไหมหละครับ ซึ่ง On-chain อย่างที่ผมกล่าวไปครับ ยังไง On-chain มันก็ถือว่าเป็นส่วนนึงของ Ethereum Chain เลย เหมือนถนนเลนในและเลนนอก สุดท้ายมันก็คือถนนเส้นเดียวกันอยู่ดี และนักลงทุนทั้งหลายก็ให้ความสนใจกับ On-chain มากกว่า Off-chain เนื่องจากเรื่องความปลอดภัยของมันนั่นเอง มาครับ มาพูดถึง On-chain กันอีกสองตัวดีกว่า

🔷 4.3) Optimistic Rollup

▪️ Optimistic Rollup ซึ่งก็คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่ Blockchain ของมันทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain หลัก (On-chain) และภายในเครือข่าย Optimistic Rollup จะสามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้เลย (ใช้ EVM ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Optimistoc Rollup จะสามารถใช้ EVM ได้ และเป็น On-chain นั่นเองครับ

▪️ พูดง่ายๆคือ Optimistic Rollup นั้น ไม่ต่างอะไรกันกับ Ethereum Chain ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันเลยครับ ให้ความปลอดภัยที่เท่ากัน แถมนักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์ยังสามารถนำ DApps มาใส่เอาไว้ใน Optistic Rollup ได้เลย แถมยังค่าธรรมเนียมถูกกว่า Ethereum Chain หลายเท่าอีกต่างหาก

▪️ โดยวิธีการบันทึกธุรกรรมของ Optimistic Rollup จะเป็นการรวบรวมธุรกรรมเอาไว้เยอะ มัดรวมกันทีหลายๆธุรกรรม แล้วส่งไปบันทึกลงในเครือข่าย Etherem Chain ที่เป็นเครือข่ายหลัก นั่นทำให้สามารถลดจำนวนธุรกรรมในระบบ และลดค่าธรรมเนียมในระบบได้ อารมณ์เหมือนการหารแท็กซี่กับเพื่อนครับ ถ้านั่งไปพร้อมกัน เรากับเพื่อนๆก็ช่วยกันหารค่ารถ แถมยังถึงที่หมายพร้อมกันอีกต่างหาก ว่ากันว่าสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 2,000-4,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเลยทีเดียว

▪️ ซึ่งข้อเสียของ Optimistic Rollup คือการจะถอนเงินออกจาก Optimistic Rollup ต้องใช้เวลาหลายถึง 7 วันกว่าเงินจะเข้า wallets ของเราครับ

👀 ซึ่งถ้าทุกท่านสังเกตดีๆ มันเป็นข้อเสียข้อเดียวกันกับ Plasma เลย โดยทั้ง Optimistic Rollup และ Plasma มีจุดที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ครับ ข้อดีของทั้งคู่ที่สามารถนำ DApps จาก Ethereum Chain มารันในระบบได้เลย ก็ต้องแลกมากับข้อเสียที่กว่าจะนำเงินออกมาได้ต้องใช้เวลาถึง 7 วันนั่นเอง

▪️ โดย Layer 2 ประเภท Optimistic Rollup ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ Arbitrum (Network), Optimism (Network), Habitat (DAO), Layer2.Finance (Defi Aggregator) และ Fuel (Payments) เป็นต้นครับ ซึ่งเจ้าตลาดที่มีการแข่งขันกันแบบสมบูรณ์จริงๆของฝั่ง Optimistic Rollup ก็คือ Arbitrum และ Optimism นั่นเอง โดยทั้งสองเครือข่ายนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Offchain Labs

🔥 ปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความ Layer 2 ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเนื่องจากเพิ่งเปิด Beta ไปหมาดๆเมื่อวันที่ 1 ก.ย. นั่นก็คือ Arbitrum นั่นเองครับ ซึ่งหลังจากที่ Arbitrum เปิดตัว ก็มีนักพัฒนาโปรแกรมนำ DApps ไปใส่ไว้ในเครือข่ายมากมายเลย ทั้ง DApps หน้าใหม่ๆอย่างเช่น ArbiNYAN (DEXs), Carbon Finance (DEXs) รวมถึง DApps ที่เป็นเจ้าตลาดเดิมจาก Ethereum Chain เช่น Uniswap, SushiSwap, Curve, Balancer เป็นต้นครับ

🔥 ส่วน Optimism ปัจจุบัน Offchain Labs กำลังพัฒนาและอยู่ในขั้น Testnet ครับ ซึ่งมี DApps ต่างๆจากฝั่ง Ethereum Chain ได้เข้าไปทดลองระบบแล้ว ได้แก่ Uniswap, Synthetix, Hop Protocol และ Lyra ซึ่งเป็น DApps หน้าใหม่ที่เปิดให้บริการแค่บน Optimism เท่านั้น

📣 ได้ยินแว่วๆว่าทาง Offchain Labs ใกล้จะมีประกาศสำคัญเกี่ยวกับ Optimism ด้วย ถ้ามีอะไรคืบหน้าเกี่ยวกับ Optimism จะมาแจ้งให้ทราบนะครับ

🔷 4.4) ZK-Rollup

▪️ ZK-Rollup หรือ Zero Knowledge Rollup คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่ Blockchain ของมันทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain หลัก (On-chain) แต่ภายใน ZK-Rollup จะไม่สามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้ (ใช้ EVM ไม่ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ ZK-Rollup จะไม่สามารถใช้ EVM ได้ และเป็น On-chain นั่นเองครับ

▪️ ซึ่งวิธีการบันทึกธุรกรรมของ ZK-Rollup จะเหมือนกับ Optimistic Rollup เลยครับ มัดรวมธุรกรรมเอาไว้เยอะๆ แล้วส่งไปบันทึกใน Etherem Chain ที่เป็นเครือข่ายหลักทีเดียว ลตต้นทุน ลดเวลา เหมือนกัน

▪️ แต่ความเจ๋งของ ZK-Rollup คือ ด้วยความที่มันขึ้นชื่อว่า Zero Knowledge ที่แปลว่า ความรู้เป็นศูนย์ มีความหมายตรงตัวเลยว่า Validator Node ที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบธุรกรรมของ Ethereum เนี่ย ไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลหรือตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างที่มาจาก ZK-Rollup ทำให้เครือข่ายสามารถลดการประมวลผลข้อมูลภายใน Blockchain ได้ ลดระยะเวลาการตรวจสอบข้อมูล ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความเร็วในการรทำธุรกรรมได้นั่นเอง

▪️ ซึงคุณ Vitalik Buterin เคลมไว้เลยว่า ZK-Rollup ถือว่าเป็น Layer 2 ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอนาคต ถ้าการอัพเกรด Ethereum 2.0 เสร็จสิ้น จำที่ผมเขียนไปด้านบนได้มั้ยครับว่า ถ้า Ethereum 2.0 เสร็จสิ้น จะมีแค่ Ethereum Layer 2 บางตัวที่ได้ไปต่อ และมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม นั่นก็คือ ZK-Rollup นั่นครับ

▪️ โดย Layer 2 ประเภท ZK-Rollup ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ dYdX (DEXs), Loopring (Payments & DEXs), ZKSwap V2 (Payments & DEXs) และอีกมากมายเลย ทุกท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม Layer 2 ทั้งหมดที่ถูกใช้งานได้ที่เว็บไซต์ https://l2beat.com/

📌 ตอนนี้ Layer 2 ที่ร้อนแรงที่สุด เป็นที่พูดถึงมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น Arbitrum ครับ ซึ่งสำหรับท่านที่อยากไปลองใช้แพลตฟอร์มเรือธงของ Ethereum อย่าง Uniswap, SushiSwap ก็สามารถไปดูวิธีใช้ได้ตามยูทูปเลยครับ มีหลายๆท่านสอนใช้งานเยอะมากๆ และถ้าโชคดี อาจจะมีโอกาสได้ลุ้นรับ Airdrop จากการไปใช้งานเชน Arbitrum ด้วยนะ

📌 Layer 2 จะเป็นตัวกอบกู้ Ethereum หรือไม่ หรือว่าจะโดน Ethereum Killer แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปซะก่อน สุดท้ายก็ต้องรอดูกันไป อย่าลืมศึกษาข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการลงทุนครับ


อ้างอิงจาก :

https://academy.bitcoinaddict.org/blockchain-scaling…/…

https://www.facebook.com/110872301229770/posts/145104597806540/?d=n
https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx…

https://www.youtube.com/watch?v=BgCgauWVTs0&t=455s

https://academy.ivanontech.com/…/comparing-layer-2…

https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/plasma/

https://ethereum.org/…/docs/scaling/layer-2-rollups/

https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/sidechains/

https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/validium/

https://l2beat.com/

https://portal.arbitrum.one/

https://defillama.com/home

About this author

อ่านเรื่องคริปโตฉบับเข้าใจง่าย คลายทุกข้อสงสัย ไปท่องโลกคริปโตกับโจเด้นกัน!
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on telegram
Telegram
Share on email
Email
more articleS
© 2019 BITCOINADDICT | ALL RIGHTS RESERVED