หลังจากที่ผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง Ethereum 2.0 ไป กระแสตอบรับค่อนข้างดี ต้องขอบคุณทุกคอมเมนต์และการแชร์ด้วยนะครับ เป็นกำลังใจที่ดีที่สุดเลย
วันนี้เลยอยากมาเขียน insight อีกเรื่องนึงของ Ethereum ที่เชื่อว่าหลายๆคนยังงง อ่านมาหลายบทความก็ยังงงอยู่ ตัวผมเองก็งงอยู่พักใหญ่ๆ นั่นก็คือ Ethereum Layer 2 ครับ
หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินคำเหล่านี้ครับ Optimism เอย Arbitrum เอย Sidechain เอย ZK-Rollup เอย มันคืออะไร จำแนกประเภทยังไง ต่างกันยังไง เดี๋ยววันนี้ผมจะมาสรุปให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายครับ เหมือนเดิมเลย ผมมีการอธิบายคำศัพท์เฉพาะไว้ทั้งหมด ยาวนิดหน่อย มือใหม่อ่านได้ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเล้ยยย โกโก
หัวข้อในบทความนี้ประกอบไปด้วย
1) จุดกำเนิด Ethereum Layer 2
2) Ethereum Layer 2 คือ?
3) Ethereum 2.0 กับ Ethereum Layer 2 ต่างกันยังไง?
4) Ethereum Layer 2 แบ่งเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
1. จุดกำเนิด Ethereum Layer 2 จริงๆแล้วทุก Blockchain ที่เราใช้งานกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum หรือเหรียญต่างๆ เราจะเรียกมันว่าเป็น Blockchain Layer 1 มันคือโครงสร้างพื้นฐานหลักๆที่แต่ละ Blockchain ใช้ในการบันทึกธุรกรรมลงบนบล็อคและตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ มันเปรียบเสมือนเป็นถนนเส้นหลักที่ทุกคนใช้งานกันนั่นเอง
พอ Blockchain นั้นๆมีผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น จำนวนธุรกรรมภายในระบบก็มากขึ้น ก็เปรียบเสมือนจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนถนนที่มากขึ้น ผลที่ตามมาคืออะไรครับ รถติด ไปถึงจุดหมายช้ากว่าเดิม แถมยังเปลืองน้ำมันอีก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก็เหมือนกับ Blockchain Layer 1 ตัวแรกๆในวงการอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ครับ จำนวนธุรกรรมที่มาก แถมยังรองรับธุรกรรมได้น้อย ทำให้ธุรกรรมของเราล่าช้า แถมยังเสียค่า gas ที่แพงอีก
ทำให้ Blockchain ที่กำเนิดมารุ่นหลังๆอย่างเช่น Binance Smart Chain, Terra Chain, Solana Chain เห็นถึงปัญหาของ Blockchain รุ่นแรกๆว่า ที่มันทำธุรกรรมได้ช้า ก็เพราะมันรองรับธุรกรรมได้น้อย ถนนมันเล็กนิดเดียวเองเลนสองเลน รถติดเปลืองน้ำมันกันไปหมด
Blockchain เหล่านี้ก็คงคิดครับว่า ถนนพวกนั้นมีแค่เลนสองเลน! พวกเราก็สร้างถนนสี่เลนห้าเลนไปเลยสิ! รถจะได้วิ่งได้เร็วขึ้น ถึงที่หมายเร็วขึ้น แถมยังไม่เปลืองน้ำมันอีก นั่นทำให้ Blockchain รุ่นหลังๆให้ความสำคัญกับ “การรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น” ทั้งนั้นเลยครับ ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรมเร็วขึ้น และค่าธรรมเนียมถูกสุดๆ
แล้ว Blockchain รุ่นปู่ๆอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum หละ สร้างถนนมาแล้ว จะให้ทุบถนนทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ก็ไม่ได้เดือดร้อนไปทั้งหมด พวกเขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาครับว่า “ ถ้าเราสร้างถนนใหม่ไม่ได้ เราก็สร้างทางด่วนเลยสิ จะได้ระบายรถจากถนนหลักไปบางส่วนด้วย “ นี่แหละครับจึงเป็นต้นกำเนิดของ Ethereum Layer 2
2. Ethereum Layer 2 คืออะไร Ethereum Layer 2 คือ Blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกันกับ Layer 1 ซึ่งจะทำให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีขึ้น ลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม รวมถึงการทำธุรกรรมที่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเปรียบ Layer 1 เป็นถนนเส้นหลัก Layer 2 ก็คือทางด่วนที่วิ่งบนถนนเส้นหลักนั่นเองครับ ลองนึกภาพว่า จากถนนสองเลน (Ethereum Layer 1) กลายเป็นสี่เลนหรือห้าเลน (Ethereum Layer 2) มันช่วยระบายรถได้มากมายขนาดไหน ไม่ต้องมารอรถติด ไม่ต้องมาเปลืองน้ำมันด้วย
ซึ่ง Etherum Layer 2 ก็จะแบ่งได้อีกหลายๆประเภทเลยครับ ทั้ง Layer 2 ที่ทำงานไปพร้อมกับ Layer 1, Layer 2 ที่ทำงานอิสระจาก Layer 1 รวมถึง Layer 2 ที่ช่วยงาน Layer 1 ให้เสร็จเร็วยิ่งขึ้น โดยตรงนี้ผมจะนำไปพูดอีกทีในหัวข้อที่ 4. ครับ
3. Ethereum 2.0 กับ Ethereum Layer 2 ต่างกันยังไง? พูดถึงข้อที่เหมือนกันก่อนครับ โดยทั้ง Ethereum 2.0 และ Ethereum Layer 2 มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการการรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น ค่าธรรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ถูกลง และการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความแตกต่างคือ Ethereum 2.0 นั้นมีจุดประสงค์ระยะยาวคือ การเปลี่ยนวิธีการยืนยันธุรกรรมจาก Proof of Work ให้กลายเป็น Proof of Stake ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้มันรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น ค่าธรรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ถูกลง และทำให้เครือข่ายมีความยั่งยืนที่มากขึ้น ส่วน Ethereum Layer 2 จะเป็นการสร้างอีก Blockchain ที่ทำงานร่วมกันได้ เพื่อแก้ไขในเรื่องของการรองรับการทำธุรกรรม และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่สูง
เรียกได้ว่า จุดประสงค์เดียวกัน แต่กระบวนการแก้ปัญหาคนละรูปแบบกัน หรือจะเปรียบก็ได้ว่า Ethereum Layer 2 คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น-กลาง และ Ethereum 2.0 จะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ได้เหมือนกันครับ
แล้วถ้าการอัพเกรด Ethereum 2.0 สำเร็จ แล้ว Ethereum Layer 2 ยังจำเป็นอยู่ไหม
จากที่ผมไปข้อมูลมา มันจะมี Ethereum Layer 2 บางประเภทที่ได้ไปต่อ และ Layer 2 วิธีนี้จะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของ Ethereum 2.0 อีกด้วย ส่วน Layer 2 ที่ไม่ได้ไปต่อ ก็ต้องดูจากฐานผู้ใช้งาน, DApps ที่รันอยู่ในนั้น, ความเป็นที่นิยมของ DApps รวมถึงค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ซึ่งถ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ Ethereum 2.0 สามารถทำได้ดีกว่าทั้งหมด Layer 2 ประเภทที่เหลือก็อาจจะตกรอบไปก็ได้นั่นเองครับ
4) Ethereum Layer 2 แบ่งเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง? ก่อนจะไปถึงว่า Ethereum Layer 2 มีอะไรบ้าง ผมขอเกริ่นถึงเรื่องเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของ Ethereum Layer 2 ก่อนนะครับ โดยจะแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
4.1) Plasma (ใช้ EVM และเป็น Off-chain)4.2) Validium (ไม่ใช้ EVM และเป็น Off-chain)
4.3) Optimistic Rollup (ใช้ EVM และเป็น On-chain)
4.4) ZK-Rollup (ไม่ใช้ EVM และเป็น On-chain)
งงกันใช่มั้ยครับ ศัพท์เฉพาะเต็มไปหมด มา! ผมขออธิบายคำศัพท์เฉพาะทั้งหมดก่อนครับ โดยเริ่มจากคำว่า Off-chain และ On-chain ก่อน
Off-chain คือ Blockchain ที่ถูกแยกออกมา เพื่อเป็น Blockchain ที่ทำงานขนานไปกับ Blockchain หลัก ซึ่งในที่นี้ก็คือ Ethereum Chain โดย Off-chain เปรียบเสมือนถนนอีกเส้นที่คู่ขนานกับถนนเส้นหลัก ซึ่งถนนเส้นหลักก็คือ Ethereum Chain ครับ
On-chain คือ Blockchain ที่ทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain โดย On-chain เปรียบเสมือนเป็นถนนเลนใน และ Ethereum Chain เป็นเหมือนถนนเลนนอก ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือถนนเส้นเดียวกันแหละครับ แต่การที่มันมีถนนเลนในเพิ่มเข้ามา ก็จะทำให้ถนนหลักสามารถระบายรถยนต์ออกไปวิ่งอีกเส้นได้นั่นเองครับ
โดยความแตกต่างระหว่างสองเชนนี้คือ ทุกๆธุรกรรมภายใน Off-chain จะไม่ได้ถูกบันทึกลง Blockchain ของ Ehereum Chain ครับ ซึ่งก็เหมือนกับถนนสองเลน ที่แค่วิ่งคู่ขนานกันเฉยๆ แต่ยังไงสุดท้ายมันก็ไม่ใช่ถนนเส้นเดียวกันอยู่ดี Off-chain เลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ Ethereum chain เลย แต่ธุรกรรมภายใน On-chain จะถูกบันทึกลงบน Ethereum Chain ทั้งหมดเลย
ซึ่งการที่ทุกธุรกรรมใน On-chain นั้นถูกบันทึกใน Ethereum Chain ทั้งหมด มันเลยได้จุดเด่นในเรื่องของความปลอดภัย (Security) และการกระจายอำนาจ (Decentralized) นั่นเองครับ เพราะว่า On-chain เทียบง่ายๆก็ถือว่ายังอยู่ในการดูแลของ Ethereum Chain ทั้งหมดเลย Off-chain มันเลยมีจุดด้อยตรงที่มันไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว Ethereum Chain ครับ (ทำไมรู้สึกว่าคำมันเบียว
) ซึ่งทำให้มันมีโอกาสโดนแฮ็คเกอร์เข้ามาแฮ็คระบบได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ
EVM ย่อมาจากคำว่า Ethereum Vitual Machine ซึ่งมันเป็นเหมือนซอฟแวร์ที่ไว้สำหรับให้นักพัฒนาสร้างแพลตฟอร์ม หรือ DApps ต่างๆบน Ethereum Chain นี่แหละครับ ซึ่งถ้า Blockchain Layer 2 ประเภทไหนที่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ นักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์ก็แค่นำ code ของ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้ต่อได้เลยใน Layer 2
จะต่างจาก Layer 2 ที่ไม่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ ถ้านักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์อยากที่สร้าง DApps มารันในเครือข่าย พวกเขาจะต้องเขียน smart contract เองใหม่ทั้งหมดเลย ไม่สามารถ copy code มาใช้งานได้นั่นเองครับ
รู้จักคำศัพท์เฉพาะทั้งหมดแล้ว มาครับ ไปเจาะลึกทีละประเภทกันดีกว่า 4.1) Plasma
Plasma ซึ่งก็คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่จะมี Blockchain แยกออกมาจาก Ethereum Chain หลัก (Off-chain) และภายใน Plasma นี้จะสามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้เลย (ใช้ EVM ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Plasma จะสามารถใช้ EVM ได้ และเป็น Off-chain นั่นเองครับ
คุณสมบัติพิเศษของ Plasma คือ มันสามารถสร้าง Blockchain แยกเป็น chain ย่อยๆได้ไม่จำกัดจำนวน จึงทำให้มันสามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น พร้อมกับค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง
แต่ข้อเสียของ Plasma คือ การจะถอนเงินออกจาก Plasma นั้นใช้เวลาหลายวันกว่าเงินจะเข้า wallets ของเราครับ ซึ่ง Layer 2 แบบ Plasma ที่ถูกใช้งานจริงในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ OmiseGo Network (Payment) และ LeverJ (DEXs)
**เพิ่มเติม** Polygon (Matic) จะเรียกเป็นอีกประเภทว่า Sidechain ครับ ซึ่งหลักการทำงานของ Sidechain นั้นจะเหมือนกับ Plasma เลยครับ คือสามารถนำ EVM ไปใช้งานได้ และเป็น Off-chain เหมือนกัน แต่มันจะมีจุดที่ Sidechain ไม่เหมือนกับ Plasma ครับ
Sidechains คือ Blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทๆนึง เพื่อใช้สำหรับการรับส่งธุรกรรมเฉพาะที่กำหนดเท่านั้น หรือเราจะเรียกๆกันว่า Private Blockchain นั่นเอง ถ้ายังไม่เห็นภาพผมจะยกตัวอย่างอย่างเช่น Ronin Bridge ก็จะเป็น Sidechain สำหรับใช้โอนหรือรับ AXS/SLP ภายในเกม Axie Infinity และใกล้ตัวสุดๆเลย Immutable X ก็จะเป็น Sidechain สำหรับรองรับการทำธุรกรรมภายในเกม Illuvium นั่นเองครับ (แต่ Immutable X จะเป็น Sidechain ประเภท Validium ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) ซึ่งแน่นอนว่าการทำธุรกรรมใน Sidechain นั้นเร็วสุดๆ และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็จะมีบริษัทนั้นๆคอยดูแลและแก้ไขได้อย่างทันทีครับ
4.2) Validium
Validium คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่จะมี Blockchain แยกออกมาจาก Ethereum Chain หลัก (Off-chain) แต่ภายใน Validium จะไม่สามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้ (ใช้ EVM ไม่ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Validium จะไม่สามารถใช้ EVM ได้ และเป็น Off-chain นั่นเองครับ
ซึ่งจุดเด่นของ Validium คือ มันสามารถรองรับธุรกรรมได้มากถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที และการถอนเงินออกจาก Validium นั้นไม่ต้องรอนานหลายวันเหมือนกับ Plasma ครับ
โดย Layer 2 ประเภท Validium ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ DeversiFi (DEXs), Sorare (NFT) และ Immutable X (ซึ่งเป็น Sidechain ประเภท Validium และให้บริการ NFT)
ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มหรือ DApps ต่างๆที่ถูกนำไปใช้งานบน Plasma หรือ Validium จะไม่ได้ถูกเป็นที่พูดถึงและใช้งานกันมากถ้าเทียบกับ Layer 2 ประเภทอื่นที่ผมจะกล่าวในสองประเภทถัดไป ในมุมมองของผมอาจจะเพราะว่า ทั้ง Plasma หรือ Validium ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ Off-chain ทำให้นักลงทุนคงจะมองว่า ถ้าจะมาใช้ Ethereum Chain แต่ได้ความปลอดภัยไม่เท่า Ethereum Chian ก็คงไม่มีเหตุจูงใจให้ใช้งาน
และอีกเหตุผลในแง่ของการใช้งาน คือ Plasma และ Validium ไม่ได้เป็น Global Network Chain จึงไม่ได้เปิดให้ใครก็ได้มารันระบบบนสองเชนดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นการบันทึกธุรกรรมเฉพาะของแอพพลิเคชั่นในบางตัวเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างซักเท่าไร
ซึ่งขอยกเว้น Polygon ไว้ตัวนึงครับ ที่มีผู้ใช้งานเยอะ จำนวนเม็ดเงินล็อคในระบบเยอะ (TVL) ผมมองว่าเพราะว่า ด้วยความที่ Polygon เป็น Sidechain ประเภท Plasma ที่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ จึงทำให้ใน Polygon มีแพลตฟอร์มมากมายที่มาจาก Ethereum เช่น AAVE, Curve, Sushiswap, Balancer ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ถือเป็นเจ้าตลาดจากทางฝัง Ethereum อยู่แล้ว จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่พอสมควร ไม่เหมือนกับประเภท Validium ที่ถ้าจะมาใช้งาน นักพัฒนาก็จะต้องเขียน smart contract ใหม่เองทั้งหมด เพราะไม่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้นั่นเองครับ แต่เราก็จะต้องรับความเสี่ยงถ้าวันนึง Polygon ถูกแฮ็คระบบและเงินลงทุนของเราโดนขโมยไป เนื่องจากไม่ได้ทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain ความปลอดภัยจึงไม่เท่ากันนั่นเองครับ
ซึ่งถ้าจะให้ Layer 2 มีควาปลอดภัยมากขึ้น ก็ควรจะหันไปพึ่ง On-chain ใช่ไหมหละครับ ซึ่ง On-chain อย่างที่ผมกล่าวไปครับ ยังไง On-chain มันก็ถือว่าเป็นส่วนนึงของ Ethereum Chain เลย เหมือนถนนเลนในและเลนนอก สุดท้ายมันก็คือถนนเส้นเดียวกันอยู่ดี และนักลงทุนทั้งหลายก็ให้ความสนใจกับ On-chain มากกว่า Off-chain เนื่องจากเรื่องความปลอดภัยของมันนั่นเอง มาครับ มาพูดถึง On-chain กันอีกสองตัวดีกว่า
4.3) Optimistic Rollup
Optimistic Rollup ซึ่งก็คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่ Blockchain ของมันทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain หลัก (On-chain) และภายในเครือข่าย Optimistic Rollup จะสามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้เลย (ใช้ EVM ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ Optimistoc Rollup จะสามารถใช้ EVM ได้ และเป็น On-chain นั่นเองครับ
พูดง่ายๆคือ Optimistic Rollup นั้น ไม่ต่างอะไรกันกับ Ethereum Chain ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันเลยครับ ให้ความปลอดภัยที่เท่ากัน แถมนักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์ยังสามารถนำ DApps มาใส่เอาไว้ใน Optistic Rollup ได้เลย แถมยังค่าธรรมเนียมถูกกว่า Ethereum Chain หลายเท่าอีกต่างหาก
โดยวิธีการบันทึกธุรกรรมของ Optimistic Rollup จะเป็นการรวบรวมธุรกรรมเอาไว้เยอะ มัดรวมกันทีหลายๆธุรกรรม แล้วส่งไปบันทึกลงในเครือข่าย Etherem Chain ที่เป็นเครือข่ายหลัก นั่นทำให้สามารถลดจำนวนธุรกรรมในระบบ และลดค่าธรรมเนียมในระบบได้ อารมณ์เหมือนการหารแท็กซี่กับเพื่อนครับ ถ้านั่งไปพร้อมกัน เรากับเพื่อนๆก็ช่วยกันหารค่ารถ แถมยังถึงที่หมายพร้อมกันอีกต่างหาก ว่ากันว่าสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 2,000-4,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเลยทีเดียว
ซึ่งข้อเสียของ Optimistic Rollup คือการจะถอนเงินออกจาก Optimistic Rollup ต้องใช้เวลาหลายถึง 7 วันกว่าเงินจะเข้า wallets ของเราครับ
ซึ่งถ้าทุกท่านสังเกตดีๆ มันเป็นข้อเสียข้อเดียวกันกับ Plasma เลย โดยทั้ง Optimistic Rollup และ Plasma มีจุดที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่สามารถนำ EVM มาใช้งานได้ครับ ข้อดีของทั้งคู่ที่สามารถนำ DApps จาก Ethereum Chain มารันในระบบได้เลย ก็ต้องแลกมากับข้อเสียที่กว่าจะนำเงินออกมาได้ต้องใช้เวลาถึง 7 วันนั่นเอง
โดย Layer 2 ประเภท Optimistic Rollup ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ Arbitrum (Network), Optimism (Network), Habitat (DAO), Layer2.Finance (Defi Aggregator) และ Fuel (Payments) เป็นต้นครับ ซึ่งเจ้าตลาดที่มีการแข่งขันกันแบบสมบูรณ์จริงๆของฝั่ง Optimistic Rollup ก็คือ Arbitrum และ Optimism นั่นเอง โดยทั้งสองเครือข่ายนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Offchain Labs
ปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความ Layer 2 ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเนื่องจากเพิ่งเปิด Beta ไปหมาดๆเมื่อวันที่ 1 ก.ย. นั่นก็คือ Arbitrum นั่นเองครับ ซึ่งหลังจากที่ Arbitrum เปิดตัว ก็มีนักพัฒนาโปรแกรมนำ DApps ไปใส่ไว้ในเครือข่ายมากมายเลย ทั้ง DApps หน้าใหม่ๆอย่างเช่น ArbiNYAN (DEXs), Carbon Finance (DEXs) รวมถึง DApps ที่เป็นเจ้าตลาดเดิมจาก Ethereum Chain เช่น Uniswap, SushiSwap, Curve, Balancer เป็นต้นครับ
ส่วน Optimism ปัจจุบัน Offchain Labs กำลังพัฒนาและอยู่ในขั้น Testnet ครับ ซึ่งมี DApps ต่างๆจากฝั่ง Ethereum Chain ได้เข้าไปทดลองระบบแล้ว ได้แก่ Uniswap, Synthetix, Hop Protocol และ Lyra ซึ่งเป็น DApps หน้าใหม่ที่เปิดให้บริการแค่บน Optimism เท่านั้น
ได้ยินแว่วๆว่าทาง Offchain Labs ใกล้จะมีประกาศสำคัญเกี่ยวกับ Optimism ด้วย ถ้ามีอะไรคืบหน้าเกี่ยวกับ Optimism จะมาแจ้งให้ทราบนะครับ
4.4) ZK-Rollup
ZK-Rollup หรือ Zero Knowledge Rollup คือ Layer 2 ประเภทหนึ่งที่ Blockchain ของมันทำงานร่วมกันกับ Ethereum Chain หลัก (On-chain) แต่ภายใน ZK-Rollup จะไม่สามารถนำแพลตฟอร์มหรือ DApps ที่รันอยู่บน Ethereum Chain มาใช้งานภายใน Blockchain นี้ได้ (ใช้ EVM ไม่ได้) สรุปแบบง่ายๆก็คือ ZK-Rollup จะไม่สามารถใช้ EVM ได้ และเป็น On-chain นั่นเองครับ
ซึ่งวิธีการบันทึกธุรกรรมของ ZK-Rollup จะเหมือนกับ Optimistic Rollup เลยครับ มัดรวมธุรกรรมเอาไว้เยอะๆ แล้วส่งไปบันทึกใน Etherem Chain ที่เป็นเครือข่ายหลักทีเดียว ลตต้นทุน ลดเวลา เหมือนกัน
แต่ความเจ๋งของ ZK-Rollup คือ ด้วยความที่มันขึ้นชื่อว่า Zero Knowledge ที่แปลว่า ความรู้เป็นศูนย์ มีความหมายตรงตัวเลยว่า Validator Node ที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบธุรกรรมของ Ethereum เนี่ย ไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลหรือตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างที่มาจาก ZK-Rollup ทำให้เครือข่ายสามารถลดการประมวลผลข้อมูลภายใน Blockchain ได้ ลดระยะเวลาการตรวจสอบข้อมูล ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความเร็วในการรทำธุรกรรมได้นั่นเอง
ซึงคุณ Vitalik Buterin เคลมไว้เลยว่า ZK-Rollup ถือว่าเป็น Layer 2 ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอนาคต ถ้าการอัพเกรด Ethereum 2.0 เสร็จสิ้น จำที่ผมเขียนไปด้านบนได้มั้ยครับว่า ถ้า Ethereum 2.0 เสร็จสิ้น จะมีแค่ Ethereum Layer 2 บางตัวที่ได้ไปต่อ และมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม นั่นก็คือ ZK-Rollup นั่นครับ
โดย Layer 2 ประเภท ZK-Rollup ที่ถูกใช้งานในปัจจุบัน (อิงตามเว็บไซต์ L2beat) ได้แก่ dYdX (DEXs), Loopring (Payments & DEXs), ZKSwap V2 (Payments & DEXs) และอีกมากมายเลย ทุกท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม Layer 2 ทั้งหมดที่ถูกใช้งานได้ที่เว็บไซต์ https://l2beat.com/
ตอนนี้ Layer 2 ที่ร้อนแรงที่สุด เป็นที่พูดถึงมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น Arbitrum ครับ ซึ่งสำหรับท่านที่อยากไปลองใช้แพลตฟอร์มเรือธงของ Ethereum อย่าง Uniswap, SushiSwap ก็สามารถไปดูวิธีใช้ได้ตามยูทูปเลยครับ มีหลายๆท่านสอนใช้งานเยอะมากๆ และถ้าโชคดี อาจจะมีโอกาสได้ลุ้นรับ Airdrop จากการไปใช้งานเชน Arbitrum ด้วยนะ
Layer 2 จะเป็นตัวกอบกู้ Ethereum หรือไม่ หรือว่าจะโดน Ethereum Killer แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปซะก่อน สุดท้ายก็ต้องรอดูกันไป อย่าลืมศึกษาข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการลงทุนครับ
อ้างอิงจาก :
https://academy.bitcoinaddict.org/blockchain-scaling…/…
https://www.facebook.com/110872301229770/posts/145104597806540/?d=n
https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx…
https://www.youtube.com/watch?v=BgCgauWVTs0&t=455s
https://academy.ivanontech.com/…/comparing-layer-2…
https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/plasma/
https://ethereum.org/…/docs/scaling/layer-2-rollups/
https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/sidechains/