ตัวผมเองชื่นชอบและรัก Ethereum มากๆ วันนี้เลยอยากพาทุกคนมารู้จักข้อมูลที่สำคัญของ Ethereum กันดีกว่า
โพสนี้จะไม่ได้บอกว่า Ethereum สร้างขึ้นเมื่อไร ผู้ก่อตั้งเป็นใคร แต่จะมาพูดถึงข้อมูลเชิงลึกที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากลงทุนกับ Ethereum ในระยะยาว นั่นก็คือ ETH 2.0 บทความยาวนิดนึง มือใหม่อ่านได้ เพราะมีการอธิบายคำศัพท์เฉพาะไว้ทั้งหมด และสำหรับผู้ที่สนใจ Ethereum คุ้มค่าที่จะอ่านแน่นอน ไปครับไปกัน ไปอ่านกัน!
หัวข้อในบทความประกอบไปด้วย
1.ปัญหาของ Ethereum ในปัจจุบัน
2.ETH 2.0 แบบย่อ
3.Blockchain Trilemma
4.ขั้นตอนการอัพเกรด ETH 2.0
1. ก่อนจะไปถึง ETH 2.0 ก็ขอเกริ่นถึงปัญหาของ Ethereum ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อน Ethereum เนี่ย ด้วยความที่มันเป็น smart contract แรกของโลก ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานทั่วโลก คนเลยใช้งานกันเยอะมาก มาก และมากขึ้น ทำให้ตัวระบบเกิดปัญหา การรองรับธุรกรรมที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดค่าทำธุรกรรมที่แพงจนน้ำตาเล็ด ทำให้นายทุนแต่ละคนถึงขั้นเพิ่มค่าธุรกรรมจ่ายไปราคาแพงๆ เพื่อให้ธุรกรรมของตัวเองเสร็จก่อนชาวบ้าน คนที่ทุนน้อยอย่างผมก็ร้องไห้สิครับ ก็ต้องรอธุรกรรมของเราเป็นสิบยี่สิบนาทีกว่าจะเสร็จ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาของ Ethereum เลยที่ต้องแก้ไข และเป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานทุกคนอยากให้แก้ไขมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆของ Ethereum อีกคือ
(อ้างอิงจาก Ethereum Foundation) การเรียกใช้งานและการตรวจสอบ node แต่ละ node นั้นยากยิ่งขึ้น เพราะยิ่ง Ethereum เติบโตไปมากเท่าไร node ก็จะยิ่งเติบโตและพัฒนาไปมากขึ้น ทำให้ถ้าจะมาแก้ไขอะไรภายหลังจะยิ่งยากมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้อาจจะยากเกินเยียวยา
Node ที่ผมพูดถึง ย่อมาจาก Validator Node ซึ่งหมายถึง บุคคล บริษัท เหมืองขุด ซึ่งเป็นตัวแทนที่มีหน้าที่คอยยืนยันธุรกรรมภายในเครือข่าย Ethereum โดย Ethereum ในปัจจุบันเรายังไม่เรียกมันว่า Validator Node แต่จะเรียกว่า Miner เพราะคนเหล่านี้ยังต้องใช้การ์ดจอสำหรับการยืนยันธุรกรรมอยู่ (ที่เรียกๆกันว่า การขุดเหมือง (Mining) ซึ่งการขุดเหมืองเนี่ยก็คือการช่วย Ethereum ในการยืนยันธุรกรรมภายในเครือข่ายนั่นเอง ซึ่งการยืนยันธุรกรรมวิธีนี้จะเรียกว่า Proof of Work ครับ) ซึ่งในปัจจุบันมี miner ของ Ethereum กระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 283,159 แห่งเลยทีเดียว (อ้างอิงจาก Coin98)
ถ้ายังไม่เห็นภาพ ยกตัวอย่างใกล้ๆตัวเลย อย่าง Bitkub Chain เชนดังของคนไทย ก็จะมี validator node คือบริษัทต่างๆที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Bitkub Chain ได้แก่ บริษัท โปรเอ็นคอร์ป, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัทอื่นๆอีกกว่า 9 แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้แหละ จะมีเซฟเวอร์ที่คอยช่วย Bitkub Chain ในการยืนยันธุรกรรมภายในเครือข่ายนั่นเองครับ
. และอีกหนึ่งปัญหาคือ การยืนยันธุรกรรมของ Ethereum ในปัจจุบันใช้พลังงานที่มากเกินไป จากที่หลายๆคนทราบกันดีว่า Ethereum ใช้วิธีการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Work เหมือนกับ Bitcoin ซึ่งการยืนยันธุรกรรมด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้การ์ดจอจำนวนมหาศาลมากมายมโหฬาร แน่นอนครับกินไฟและทำให้โลกร้อนสุดๆ
ซึ่งสิ่งเดียวที่จะแก้ทุกปัญหาตรงนี้ได้ก็คือ ETH 2.0 ครับ
2. ETH 2.0 ก็เหมือนเป็นการอัพเกรดเครือข่าย Ethereum ให้มีความ ปลอดภัยมากขึ้น (more sucurity) กระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น (more decentralization) และสำคัญที่สุดคือ “รองรับการทำธุรกรรมที่มากยิ่งขึ้น (more scalability)” โดยการเปลี่ยนวิธีการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Work เป็น Proof of Stake แทน สิ่งเหล่านี้จะทำให้มันเกิดความยั่งยืน (sustainable) มากขึ้นในระยะยาว
ซึ่งการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Stake เนี่ยแหละครับ จะใช้ Validator Node ที่เป็นคนคอยยืนยันธุรกรรมภายในเครือข่ายแทน ไม่ต้องใช้การ์ดจอให้เสียพลังงานมากมายแล้ว ทำให้วิธีการยืนยันธุรกรรมแบบนี้ถูกนำไปใช้เป็นใน blockchain ใหม่ๆในปัจจุบันครับ
3. พูดถึงปัญหาที่ Ethereum เจอแล้ว ก่อนจะไปหัวข้อถัดไป อยากให้ทุกคนรู้จักเกณฑ์การวัดประสิทธิภาพของ blockchain แต่ละที่ก่อน ซึ่งเป็นมาตรวัดที่เป็นสากลที่ทุกคนใช้กัน นั่นก็คือ “Blockchain Trilemma” Trilemma คือสามเหลี่ยมทางเลือกที่เรามักจะใช้ในการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ โดยสมมุติว่าเรามีทั้งหมด 3 ทางเลือก เราไม่สามารถเลือกให้มีทั้งได้ทั้ง 3 แบบในทีเดียว อย่างเช่น ถ้าเปรียบเทียบการเลือกซื้อคอมเครื่องนึงด้วย Trilemma โดยมีทางเลือกคือ 1) คอมไม่ร้อน 2) ประสิทธิภาพเต็มร้อย 3) ตัวเครื่องทนทาน คนๆนั้นจะไม่สามารถเลือกได้ทั้ง 3 อย่าง เขาจึงต้องเลือกว่าอยากให้คอมตัวเองเป็นไปในทิศทางไหนมากกว่ากัน
พูดง่ายๆคือ ได้อย่าง ก็ต้องเสียอย่างครับ Blockchain Trilemma ก็เช่นกันครับ ทุก smart contract coin ก็ต้องมีตัวเลือกระหว่าง ความปลอดภัย (security) การกระจายอำนาจ (decentralization) หรือการรองรับการทำธุรกรรมที่มาก (scalability) ซึ่ง blockchain แต่ละประเภทก็จะมีแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกันยกตัวอย่างเช่น
Bitcoin และ Ethereum ก็จะได้เรื่องของความปลอดภัย (security) และการกระจายอำนาจ (decentralization) แต่จะไม่ได้เรื่องการรองรับธุรกรรมที่มาก (scalability) เนื่องจากความเร็วในการทำธุรกรรมของ Bitcoin รับได้แค่ 10 ธุรกรรมต่อวินาที Ethereum ได้ 20 ธุรกรรมต่อวินาที แต่เชนใหม่ๆอย่างเช่น Terra chain ที่ใช้การยืนยันธุรกรรมแบบวิธี Proof of Stake สามารถรองรับได้สูงสุดถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที
Binance Smart Chain หรือ Terra chain ก็จะได้ความปลอดภัย (security) และการรองรับธุรกรรมที่มาก (scalability) แต่จะไม่ได้เรื่องของการกระจายอำนาจ (decentralization) เพราะว่า validator node ของสองเชนนี้จะมีแค่ประมาณ 100 กว่าแห่ง ซึ่งต่างจาก Ethereum ที่มีมากถึงสองแสนกว่าแห่ง
มาพูดถึง Blockchain Trilemma แต่ละข้อของ Etherem กันครับ Security
ปัจจุบัน Ethereum นั้นให้ความปลอดภัยที่สูงมาก เรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดา blockchain ทุกที่แล้ว ยังไม่เคยมีการ hack เกิดขึ้นที่ Ethereum เลย Decentralization
ด้วยความที่ Ethereum มันมี node ถึงสองแสนกว่าที่ นับว่าเป็นกระกระจายอำนาจแบบขั้นสุด และเป็นจุดเด่นมากๆเลย ที่จะลดโอกาสการเกิดการโจมตีในโลก blockchain ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดอย่าง “51% attack” ได้ 51% attack คือการที่มีแฮ็กเกอร์หรือใครคนใดคนนึง สามารถแฮ็กและควบคุม node ของ blockchain นั้นๆ เกิน 51% ของ node ทั้งหมดได้ อย่างที่บอกครับจุดเด่นของ blockchain คือความเป็นประชาธิปไตย หน้าที่ของ node คือการยืนยันและตรวจสอบธุรกรรมภายใน blockchain นั้นๆ ซึ่งทุกๆ node มีอำนาจในการยืนยันธุรกรรมเท่าๆกันหมดตามทรัพยากรที่ตนเองมี แต่ถ้าแฮ็กเกอร์สามารถควบคุมให้ตนเองมีสิทธิ์ใน node เกิน 51% ทำให้เขาสามารถควบคุมการทำธุรกรรมได้ทุกอย่างในเครือข่ายนั้นๆ อารมณ์เหมือนผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นทั้งหมด 51% เขาจะสามารถกำหนดทิศทางบริษัทได้เลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือแฮ็กเกอร์จะสามารถยับยั้งการทำธุรกรรม รวมถึงโกงธุรกรรมในรูปแบบต่างๆได้
ซึ่งการที่จะเกิด 51% attack ส่วนมากจะมีโอกาสเกิดกับ blockchain ที่มีการกระจาย node น้อยๆ ทำให้แฮ็กเกอร์ง่ายที่จะแฮ็กเครือข่ายเหล่านั้นนั่นเองครับ ล่าสุดเลยเดือนที่แล้วเพิ่งจะเกิด 51% attack กับเครือข่าย Bitcoin SV เนื่องจากเป็นเชนที่มี Validator Node ที่น้อยมากๆ ปัญหานี้เลยทำให้ทุก exchange ที่มีเหรียญ BSV ต้องระงับการโอนถอนเหรียญ BSV กันไปพักใหญ่ๆเลยทีเดียว
Scalability
การรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น เป็นปัญหาที่ Ethereum จะต้องแก้ไขอย่างมาก เพราะเชนต่างๆที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Ethereum Killer นั้น มีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากๆ เช่น Solana ทำธุรกรรมทีไม่ถึงหนึ่งบาท หรือ Binance Smart Chain, Terra chain ก็แค่ไม่กี่บาท แต่ ETH 2.0 ไม่ยอมแพ้ครับ เขาเคลมกันว่าถ้า ETH 2.0 สำเร็จเมื่อไร มันจะรองรับธุรกรรมได้ถึง 100,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเลยทีเดียว
โดยถ้าเกิด Ethereum สามารถเพิ่มการรองรับธุรกรรมที่มากขึ้นได้ (more scalability) Trillemma ของ Ethereum ก็จะสมดุลที่ตรงกลางพอดี และจะถือว่าเป็น blockchain ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่า Ethereum จะสามารถทำได้ไหม
4. พูดถึงสิ่งที่ Ethereum จะแก้ปัญหาแล้ว พูดถึง Trilemma ของ Ethereum แล้ว ต่อมามาพูดถึงกระบวนการทั้งหมดในการที่จะอัพเกรดเป็น ETH 2.0 กันครับ โดยทาง Ethereum Foundation บอกไว้ทั้งหมด 3 กระบวนการ เรียงลำดับดังนี้ครับ 1. The Beacon Chain
เป็นเหมือนการเริ่มต้นการเปลี่ยน Ethereum เป็น Proof of Stake โดย Ethereum ได้สร้าง Blockchain ซึ่งใช้งานคู่ขนานกับ Ethereum อันดั้งเดิมเรียกว่า Beacon Chain โดยการใช้งาน Beacon Chain ในตอนนี้เพื่อไว้สำหรับการ staking ETH เท่านั้น เพื่อรอการเปลี่ยน Ethereum ให้กลายเป็น Proof of Stake แบบสมบูรณ์ครับ ขั้นตอนนี้สำเร็จไปแล้วเมื่อปลายปี 2019 แล้ว ที่ให้ทุกคนสามารถ Staking ETH ได้นั่นเองครับ ขั้นตอนนี้คือ Phase 0 2. The Merge
ขั้นตอนนี้จะเป็นการรวม Beacon Chain และ Ethereum Chain ในปัจจุบันเข้าด้วยกันเมื่อตัวระบบ ETH 2.0 เสร็จสิ้น โดยเจ้าตัว Beacon Chain เนี่ย เปรียบเสมือนยานอวกาศที่กำลังสะสมพลังเชื้อเพลิงจากการ staking ETH เพื่อพร้อมที่จะขึ้นไปเทียบท่ากับ Ethereum Chain เชนดั้งเดิมที่มีอยู่นั่นเอง ซึ่งทาง Ethereum Foundation คาดการณ์ไว้ว่าขั้นตอนนี้จะเสร็จสิ้นประมาณปลายปี 2021 ถึงช่วงต้นปี 2022 ครับ ขั้นตอนนี้คือ Phase 1 ซึ่งการอัพเกรดของ Ethereum ล่าสุดที่ผ่านมาอย่าง London Hardfork (EIP-1559) ก็เป็นส่วนนึงของขั้นตอนการอัพเกรด ETH 2.0 เช่นกัน (เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอน The Beacon Chain และ The Merge) โดยการนำ rewards ส่วนนึงจากที่นักขุดควรจะได้รับ นำไปเผาทิ้ง เพื่อเป็นการลด supply ของเหรียญ Ether และเป็นการทำให้ Ether เกิดภาวะเหรียญฝืด ซึ่งเป็นผลดีต่อ Ethereum ในระยะยาวครับ
3. Shard Chains
จะเป็นการสร้าง blockchain อีกเชนนึงที่ทำงานคู่ขนานกับ ETH 2.0 ทำให้ Ethereum สามารถเพิ่มการรองรับการทำธุรกรรมได้มากขึ้นไปอีก ปลอดภัยขึ้นอีก และกระจายอำนาจมากขึ้นไปอีก ขั้นตอนนี้ถือว่าการอัพเกรด ETH 2.0 เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งคือ Phase 2 โดยข้อดีของ Shard Chains นี้คือ ทุกคนสามารถเป็น Validator Node เองได้ ต่างจากแต่ก่อนที่เราต้องไป staking ETH กับคนที่เป็น Validator Node เท่านั้น ข้อดีตรงนี้ทำให้เป็นการเพิ่มความ decentralized ให้กับ Ethereum ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง อย่างที่เคยบอกครับ ยิ่งมัน decentralized มากขึ้นเท่าไร ยิ่งป้องกันการถูกโจมตีจากแฮ็กเกอร์ได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งปัจจุบันมี Validator Node ที่ไว้สำหรับการ staking ETH นั้นมีมากถึง 217,266 แห่งเลยทีเดียว (อ้างอิงจาก Coin98) เรียกได้ว่ามากพอๆกับ Ethereum chain ในตอนนี้เลยครับ ซึ่งถ้าเสร็จสิ้นในขั้นตอน Shard Chains แล้ว validator node ก็จะมีมากขึ้นไปอีกเยอะเลยครับ
Vitalik Buterin Co-Founder ของ Ethereum บอกว่า ETH 2.0 จะเสร็จสมบูรณ์แบบล้านเปอร์เซ็น (พูดๆว่าจะมี Phase 3++) อาจต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนมาทั้งระบบ แต่ว่าสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ Phase 2 แล้วครับ
สำหรับใครที่สนใจ staking ETH สามารถ staking ง่ายๆผ่าน Binance ได้เลย โดยผลตอบแทนคาดการณ์เฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4-5% โดยถ้า staking ไปแล้วจะไม่สามารถถอนออกได้จนกว่า ETH 2.0 จะเสร็จสิ้นนะครับ บริหารเงินลงทุนให้ดีๆ โดยวิธีการสามารถรับชมได้ที่ Youtube เลยมีหลายๆท่านสอนไว้เยอะเลยครับ
แปลมาจาก Ethereum Foundation ทั้งหมด ถ้าข้อมูลผิดพลาดหรือตีความส่วนไหนผิดไป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แก้ไขหรือเสริมข้อมูลกันได้เต็มที่เลยครับ
อ้างอิงจาก : https://ethereum.org/en/
: https://www.youtube.com/watch?v=izzMuxD4OAM