ทำความรู้จักกับ De-Fi ฉบับมือใหม่เข้าใจง่าย
ทำความรู้จักกับ De-Fi ฉบับมือใหม่เข้าใจง่าย

มาทำความรู้จักคำว่า “De-Fi” ฉบับมือใหม่เข้าใจง่ายกันดีกว่า!

▪️ หลายๆคนที่เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการคริปโต อาจจะเคยผ่านการซื้อหรือเทรดคริปโตมาบ้างแล้ว และกำลังศึกษาข้อมูลในส่วนที่ลึกขึ้น ทุกคนก็จะเจอกับคำว่า “De-Fi” ผมเชื่อว่ามีหลายคนเลยที่ยังงงๆกับความหมายและคอนเซปของคำว่า De-Fi

▪️ ผมคนนึงที่เคยนั่งงมอยู่พักใหญ่ๆ ก็เลยอยากจะมาแชร์เกร็ดความรู้เล็กน้อยให้กับทุกคนฟังว่า De-Fi คืออะไร? อะไรที่เรียกว่า De-Fi ได้บ้าง? มันมีทั้งหมดกี่ประเภท? บทความนี้จะไขคำตอบให้กับทุกคนเอง ยาวนิดหน่อย แต่รับรองว่าได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยแน่นอน พร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเล้ยยย

📌 หัวข้อในบทความนี้ประกอบไปด้วย

1) De-Fi คืออะไร?
2) การลงทุนใน De-Fi แบ่งออกเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
3) ความเสี่ยงของการลงทุนใน De-Fi

✔️ De-Fi คืออะไร?

▫️ De-Fi ย่อมาจากคำว่า Decentralized Finance หรือถ้าแปลเป็นไทยคือ ระบบการเงินแบบ “ไร้ตัวกลาง”

🟢 ในปัจจุบันเนี่ย เวลาเราจะทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝากเงิน ถอนเงิน ปล่อยกู้ ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราจะต้องกระทำผ่านคนกลางทั้งหมด อย่างเช่น ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ จะเป็นคนที่คอยกำกับดูแลและตรวจสอบความถูกต้องในธุรกรรมทางการเงินของเรา ก็เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและกำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบที่ทางตัวกลางกำหนดไว้

🟢 ตัวอย่างเช่น เวลาเราต้องการจะกู้เงิน เราก็ต้องไปกู้ผ่านตัวกลางซึ่งคือธนาคารหรือสถาบันการเงิน อย่างที่หลายๆคนทราบครับ การทำธุรกรรมทางการเงินแต่ละที ต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการธุรกรรมเยอะมากๆ ขอเอกสารเอย ประวัติส่วนตัวเอย statement เอย และมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่สูง เพราะต้องมีการหักค่าธรรมเนียมในหลายส่วน

🟢 ทั้งหมดนี้ จึงเป็นข้อเสียของการมีตัวกลางมากำกับดูแลธุรกรรมทางการเงินของเรา ซึ่งเราจะเรียกกันระบบการเงินแบบดั้งเดิมนี้อย่างติดหูว่า Centralized Finance (Ce-Fi) หรือการเงินแบบมีตัวกลาง

🟢 แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราสามารถลดขั้นตอนการดำเนินธุรกรรมของเรา ลดระยะเวลาดำเนินธุรกรรม ไม่ต้องยื่นเรื่องส่งเอกสารมากมายให้ปวดหัว จากแนวคิดเหล่านี้ จึงถือกำเนิดระบบการเงินแบบ ”ไร้ตัวกลาง” หรือ Decentralized Finance ขึ้นมานั่นเองครับ

▫️ ระบบการเงินในปัจจุบัน (Centralized Finance) มีสถาบันการเงินเป็นคนกำกับดูแล แต่ De-Fi นั้นไม่มี แล้วมันจะสามารถทำงานได้อย่างไร?

🟢 De-Fi จะใช้สิ่งที่เรียกว่า smart contract ซึ่งมันเป็นกระบวนการทางดิจิตอลอย่างนึง หน้าที่ของมันคือ มันจะคอยบันทึกทุกๆธุรกรรมที่เกิดขึ้นใส่ไว้บน blockchain ฉะนั้นเวลาจะทำธุรกรรมอะไรก็แล้วแต่ผ่าน De-Fi เราจะไม่ต้องมาคอยคุยกับพนักงาน หรือเดินเปลี่ยนแผนกยื่นเรื่องไปเรื่อยๆเหมือน traditional finance อีกแล้ว เพราะ smart contract จะเป็นคนจัดการให้เราทุกอย่าง ดังนั้น การประยุกต์ใช้ smart contract กับธุรกรรมในโลก De-Fi ทำให้มันไม่ต้องใช้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมาเป็นคนกำกับดูแลอีกเลย

🟢 ตัวอย่างเช่น สมมุติผมต้องการโอนเหรียญ ETH ไปให้กับเพื่อนของผมผ่านแพลตฟอร์มใน De-Fi เจ้า smart contract ก็จะบันทึกธุรกรรมนี้ลงบน blockchian ซึ่งข้อมูลธุรกรรมนี้จะไม่มีใครสามารถแฮ็คหรือบิดเบือนมันได้เลย เพราะข้อมูลทั้งหมดมันถูกบันทึกลงบน blockchain มันจึงมีความปลอดภัย โปร่งใส และทุกคนสามารถตรวจสอบธุรกรรมนี้ได้ ข้อดีตรงนี้ ทำให้ De-Fi ทั้งประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และรวดเร็วมากกว่า traditional finance

🟢 ซึ่งในปัจจุบัน De-Fi มีแพลตฟอร์มที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนกับ traditional finance ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มสำหรับปล่อยกู้/กู้ยืม เช่น Aave, Compound แพลตฟอร์มการฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ย เช่น Anchor Protocol แพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล เช่น Uniswap, SushiSwap, PancakeSwap และแพลตฟอร์มทางการเงินอื่นๆอีกมากมายเกือบทุกประเภท

✔️ แล้วการลงทุนใน De-Fi แบ่งออกเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

อย่างที่บอกครับว่า สิ่งที่ traditional finance ทำได้ De-Fi ทำได้แทบจะทุกอย่างเลย แต่ในแง่ของการลงทุนใน De-Fi ผมจะแบ่งการลงทุนเป็นประเภทใหญ่ๆทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

🔥 การเป็นผู้เพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ (Liquidity Provider)

🟣 ในโลก De-Fi นั้น จะมีแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนคริปโตอยู่เยอะมากๆ ซึ่งเราจะเรียกแพลตฟอร์มเหล่านี้ว่า Decentralized Exchanges เรียกสั้นๆว่า DEXs, DEXs เนี่ยเปรียบเสมือนธุรกิจ Superrich ในโลก De-Fi เลย ใครที่มีเหรียญอะไรแล้วอยากเอามาแลกกับเหรียญอะไร ก็สามารถนำมาแลกได้ที่ DEXs เลยครับ

🟣 ยกตัวอย่างเช่น PancakeSwap ซึ่งเป็น DEXs เจ้าใหญ่จากฝั่ง Binance Smart Chain ก็จะมีเหรียญคริปโตรวมถึงโทเค็นต่างๆเยอะแยะมากมายไว้ให้เราแลก เราต้องการแลกเหรียญไหน ก็กดแลกพร้อมเสียค่าธรรมเนียมของระบบเล็กน้อยให้กับ PancakeSwap เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการแลกเหรียญ เหรียญที่เราแลกก็จะเข้ากระเป๋าของเราโดยอัตโนมัติ

▫️ แล้ว PancakeSwap นำเหรียญจากไหนมาใส่ไว้ในแพลตฟอร์มสำหรับให้คนมาแลก?

🟣 จึงเป็นที่มาของการลงทุนประเภทแรกนี้ครับ เนื่องจากในโลก De-Fi นั้น ไม่มีตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินมาใส่สภาพคล่องเหรียญต่างๆเอาไว้ ทางแพลตฟอร์ม DEXs เลยเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาเป็น “ผู้ให้บริการสภาพคล่อง” ให้กับแพลตฟอร์มนั่นเองครับ

🟣 โดยคนที่จะเป็นผู้ให้บริการสภาพคล่อง จะต้องนำคู่เหรียญ 2 สกุล มาฝากเอาไว้ในแพลตฟอร์มเป็นจำนวนที่เท่ากันทั้งสองฝั่ง เราจะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมกรณีที่มีคนมาแลกเหรียญกับแพลตฟอร์ม

🟣 ซึ่งบาง DEXs จ่ายส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมให้เป็นค่าธรรมเนียมตรงๆเลย ฝากเหรียญไหน ได้ค่าธรรมเนียมเหรียญนั้น และบาง DEXs จ่ายส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมเป็น governance token ของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น PancakeSwap ก็จะจ่ายส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมให้กับผู้ที่มาให้บริการสภาพคล่องเป็นเหรียญที่ชื่อว่า Cake ซึ่งเราก็สามารถนำ Cake ไปขายทำกำไร หรือจะนำมาเป็นสิทธิ์ในการโหวตทิศทางของ PancakeSwap นั่นเองครับ

🟣 ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน ถ้าเรานำเหรียญ BNB และเหรียญ BUSD นำไปฝากไว้ใน PancakeSwap เวลามีคนนำเหรียญ BNB มาแลกเป็น BUSD หรือนำ BUSD มาแลกเป็นเหรียญ BNB เราก็จะได้รับผลตอบแทนของส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมคิดเป็น APY อยู่ที่ 30% ต่อปี โดยเราจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญ Cake เป็นต้นครับ

🔥 การนำเหรียญคริปโตไปค้ำประกัน และกู้เงินออกมาใช้ (Lending & Borrowing)

หลายๆคนอาจจะงงๆว่า แล้วทำไมเราถึงต้องนำคริปโตเขาเราไปค้ำประกันด้วย ก็นำคริปโตของเราไปใช้เลยสิ เพราะถ้าค้ำประกันแล้วกู้เงินออกมา สุดท้ายก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยกู้ยืมอยู่ดี มันคุ้มหรอ?

🟣 คำตอบคือ มันคุ้มครับ หลายๆท่านอาจจะไม่รู้ว่า จุดเด่นของแพลตฟอร์มสำหรับกู้ยืมในโลก De-Fi ในบางแพลตฟอร์มคือ “ยิ่งกู้เงิน ยิ่งได้ผลตอบแทน” ฟังไม่ผิดครับ คนที่มากู้เงิน ทางแพลตฟอร์มก็จะให้ผลตอบแทนกับคนที่กู้อีกด้วย!

🟣 วิธีการมันเป็นแบบนี้ครับ สมมุติเรามีเหรียญ ETH ซึ่งต้องการถือเก็บไว้ยาวๆ ถ้าเราปล่อยมันไว้เฉยๆก็มีค่าเสียโอกาสเต็มไปหมด จะดีกว่ามั้ยถ้าเรานำ ETH ของเรา ไปค้ำประกันไว้บนแพลตฟอร์มกู้ยืมเงิน เพื่อที่เราจะสามารถกู้ USDC ออกมาจำนวนหนึ่ง และนำ USDC ตรงนี้ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน

🟣 อย่างที่บอกครับว่า บางแพลตฟอร์มจะมีการแจกผลตอบแทนในการกู้ด้วย เท่ากับว่า ตอนเราค้ำประกัน ETH เพื่อกู้ USDC นอกจากเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการกู้ USDC แล้ว แพลตฟอร์มจะแจกผลตอบแทนจากการกู้ USDC เป็นสัดส่วนที่มากกว่าดอกเบี้ยกู้ยืมที่เราต้องจ่ายอีกด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า“ยิ่งกู้เงิน ยิ่งได้ผลตอบแทน” นั่นเองครับ

🟣 โดยส่วนมาก ผลตอบแทนที่แพลตฟอร์มแจกจากการกู้ยืม จะแจกเป็น governance token ของแพลตฟอร์ม และ USDC ที่เรากู้มา เราก็สามารถนำไปสร้างผลตอบแทนได้อีกทอดนึง เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

🟣 ยกตัวอย่างเช่น Anchor protocol แพลตฟอร์มธนาคารจากฝั่ง Terra Chain โดยเราสามารถนำเหรียญ LUNA ไปค้ำประกันเพื่อกู้ยืมเหรียญ UST ออกมาได้ โดยการค้ำประกัน LUNA เพื่อกู้ UST เราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการกู้ยืมถึง 25% ต่อปี แต่เราก็จะได้รับ rewards จากการค้ำประกันและกู้เป็น governance token ของแพลตฟอร์มก็คือเหรียญ ANC ที่สัดส่วนถึง 36% ต่อปี

🟣 เท่ากับว่า ในขั้นตอนแค่การค้ำประกัน LUNA เพื่อกู้ UST เราก็ได้ผลตอบแทนไปแล้ว 11% ต่อปี(36%-25%) และหลังจากนี้ เราสามารถนำ UST ที่กู้มา ไปฝากออมทรัพย์บนแพลตฟอร์ม Anchor เพื่อรับดอกเบี้ยได้สูงสุด 18%-20% ต่อปี และได้ดอกเบี้ยเป็น UST อีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับคนที่อยากถือเหรียญ LUNA ระยะยาวนั่นเองครับ

🔥 การทำ Delta Neutral ในสินทรัพย์สังเคราะห์

ถ้าหลายๆท่านที่มาจากตลาดหุ้น อาจจะเคยได้ยินกลยุทธ์ Long/Short Hedge ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง โดยการเปิด position long และ short ในสินทรัพย์ตัวเดียวกัน

🟣 ในโลก De-Fi ก็มีวิธีทำกำไรประเภทนี้เช่นกันผ่านสินทรัพย์สังเคราะห์ ซึ่งสินทรัพย์สังเคราะห์ในโลก De-Fi มีทุกอย่างใน traditional market เลย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทองคำ ค่าเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงดัชนีราคาต่างๆ และเราสามารถ long และ short สินทรัพย์เหล่านี้ เพื่อทำกำไรในตลาดทั้งสองขา วิธีการนี้จะเรียกว่า Delta Neutral

🟣 โดยการจะได้สินทรัพย์สังเคราะห์พวกนี้ หลักการเดียวกับการค้ำประกันเลย คือเราต้องนำเหรียญคริปโตของเรา ไปค้ำประกันกับแพลตฟอร์มสร้างสินทรัพย์สังเคราะห์ตามสัดส่วนที่แพลตฟอร์มกำหนด หลังจากนั้นแพลตฟอร์มจะ mint สินทรัพย์สังเคราะห์ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ที่เราต้องการออกมาให้ใช้

🟣 สมมุติว่าเราซื้อหุ้น AAPL มาเพื่อเปิด position long และ short เมื่อวันที่ราคาหุ้น AAPL ขึ้น เราก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญ MIR ซึ่งเป็น governance token ของแพลตฟอร์มจากฝั่ง long position และเมื่อราคาหุ้น AAPL ลง เราก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญ MIR ในฝั่ง short position เป็นต้นครับ

✔️ ความเสี่ยงของการลงทุนใน De-Fi

▫️ ความเสี่ยงแรกก็คือ “ความไม่รู้”

🟠 การที่ศึกษา De-Fi แต่ละโปรเจคไม่ละเอียด ศึกษาขั้นตอนในการเอาเงินมาลงทุนไม่ละเอียด เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับนักลงทุนหน้าใหม่นักต่อนักแล้ว ความผิดพลาดเพียงแค่ใส่ address ในการโอนเหรียญคริปโตผิดเพียงตัวเดียว ก็ทำให้เหรียญคริปโตของเราหายไปได้เลย ไม่เหมือนกับธนาคาร ถ้าเราโอนเงินไปผิดบัญชี เราก็สามารถติดต่อธนาคารทำเรื่องขอคืนเงินได้ ฉะนั้นนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนใน De-Fi ควรศึกษาทุกขั้นตอนให้ละเอียดรอบคอบ

▫️ ความเสี่ยงสองคือ ความผิดพลาดและช่องโหว่ของ smart contract

🟠 เนื่องจากมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับซอฟแวร์และภาษาทางคอมพิวเตอร์ มันย่อมมีช่องโหว่แฝงอยู่เสมอ ซึ่งถ้าเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยก็สามารถตามแก้ไขได้ทันท่วงที แต่ถ้าเป็นช่องโหว่ของ smart contract ขนาดใหญ่ ก็อาจจะทำให้แพลตฟอร์มสูญเสียเงินมหาศาลรวมถึงเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกันเลยทีเดียว

🟠 ยกตัวอย่างช่องโหว่และข้อผิดพลาดใน smart contract เช่น Compound แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินจากฝั่ง Ethereum ที่ได้เกิดบัคขึ้นขณะอัพเดต ทำให้ผู้ใช้งานสามารถกดรับผลตอบแทนไปได้มากกว่าปกติ ตีเป็นมูลค่าความเสียหายราวๆ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

▫️ ความเสี่ยงสุดท้าย การที่ De-Fi ถูกแฮ็กระบบ

🟠 การถูกโจมตีในโลก De-Fi เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ผมจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์โดนแฮ็กใหญ่ๆสองเหตุการณ์ครับ

🟠 เหตุการณ์ Vampire Attack ที่เกิดกับแพลตฟอร์ม Uniswap โดยต้นตอมาจากนักพัฒนาจาก Uniswap บางกลุ่มต้องการที่จะแยกตัวออกไปจาก Uniswap จึงมีการเจาะช่องโหว่ของ smart contract เกิดขึ้นทำให้พวกเขาสามารถดึงสภาพคล่องเม็ดเงินจาก Uniswap ไปได้เกือบครึ่ง ไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มๆใหม่ที่มีชื่อว่า SushiSwap นั่นเอง

🟠 เหตุการณ์ Flash Loan Attack จะเกิดกับแพลตฟอร์มกู้ยืมเป็นส่วนใหญ๋ แฮ็คเกอร์จะทำการเจาะช่องโหว่ทาง smart contract โดยการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ได้มีการค้ำประกัน ทำการ arbitrage และคืนเงินที่กู้ให้กับแพลตฟอร์ม โดยธุรกรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายใน 3 วินาที พูดง่ายๆคือ ทำการโกงระบบโดยที่ระบบยังจับไม่ได้ว่ามีการโกงเกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดไปหมาดๆกับ De-Fi คนไทยอย่าง Dopple และ Twidex ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 18 ล้านบาทเลยทีเดียว

จบกันไปแล้วครับกับบทความเรื่องการลงทุนใน De-Fi ซึ่งแต่ละคนจะเหมาะกับวิธีการลงทุนประเภทไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ศึกษาให้ละเอียดในทุกแพลตฟอร์มที่จะไปลงทุน อ่าน whitepaper ให้ดีถึงข้อกำหนดและนโยบายต่างๆของแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์และเงินลงทุนของเราครับ 🙂

“Not financial advice”
“Do Your Own Research”
“ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน”

อ้างอิงจาก : https://medium.com/coinmonks/what-is-a-vampire-attack-in-crypto-fdfc5e1fc5fc

https://www.moneybuffalo.in.th/cryptocurrency

About this author

อ่านเรื่องคริปโตฉบับเข้าใจง่าย คลายทุกข้อสงสัย ไปท่องโลกคริปโตกับโจเด้นกัน!
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on telegram
Telegram
Share on email
Email
more articleS
© 2019 BITCOINADDICT | ALL RIGHTS RESERVED