ในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคที่การใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi แต่ละทีนั้น จะต้องใช้งานผ่านทางคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อผู้ที่มีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ในการเข้าถึง รวมถึงในบางเวลาที่เราออกต้องไปนอกบ้าน เราอยากจะทำธุรกรรมเล็กๆน้อยๆใน DeFi ก็ย่อมลำบาก
ซึ่งทุกวันนี้จะมี Wallet เยอะแยะมากมายที่เราสามารถใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างเช่น Metamask ถึงมันจะสามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ก็อาจจะยังมีความไม่เสถียรของระบบอยู่บ้างเป็นบางครั้ง เนื่องจากมันถูก Default ให้ใช้ผ่านทางคอมพิวเตอร์
ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการเข้าถึง DeFi ในยุคปัจจุบัน และเป็นข้อจำกัดอย่างมากสำหรับผู้ที่อยากเข้าถึงการใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi แต่ไม่มีอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ในการใช้งาน
มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้เห็นถึง Pain Point เหล่านี้และต้องการที่จะแก้ปัญหาการเข้าถึงแพลตฟอร์ม DeFi ในยุคปัจจุบัน พวกเขาจึงรวมตัวกันและก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า “Celo” ขึ้นมา
Celo คืออะไร? มีความน่าสนใจยังไง? ไปอ่านกันได้เลยครับ
หัวข้อในบทความนี้ประกอบไปด้วย
1) Celo คืออะไร?
2) Use Case ในปัจจุบัน
3) ทำไม Celo ถึงน่าสนใจ?
1) Celo คืออะไร?
Celo คือองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ต้องการให้การใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi สามารถใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เพื่อเป็นการทำลายข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึง DeFi ในยุคปัจจุบันที่ใช้งานได้ผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น
Celo เล็งเห็นว่า ทุกวันนี้มีผู้ใช้งาน Smart Phone จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันล้านเครื่อง แต่กลับมีผู้ใช้งาน DeFi หรือผู้ที่สามารถเข้าถึง DeFi เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ามาก Celo จึงมีเป้าหมายให้ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือนั้น สามารถที่จะใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi หรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Cryptocurrency ได้ โดยใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งานในการเป็น Public Key สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ Celo ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain เป็นของตัวเอง มีการรองรับ Smart Contract และ EVM อีกด้วย นั่นหมายถึงว่าผู้พัฒนาจากทั่วโลก สามารถที่จะมาสร้าง DApps ต่างๆได้บน Celo Blockchain และผู้พัฒนาจากฝั่ง Ethereum ก็สามารถนำ DApps จาก Etherum มารันบน Celo Blockchain ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม DeFi ที่ถูกรันอยู่บน Celo Blockchain อยู่ถึง 11 แห่ง
Celo Blockchain ใช้วิธีการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Stake ซึ่งผู้ใช้งานสามารถทำการ Staking Celo กับ Validator Node เพื่อรับ $Celo Rewards ได้อีกด้วย
2) Use Case ในปัจจุบัน
– “Valora” กระเป๋าเงินบนโทรศัพท์ของ Celo Blockchain
Valora หนึ่งในจุดขายของ Celo ซึ่งมันเป็น Wallet ที่ผู้ใช้งานสามารถโอน/รับเหรียญ Stable Coin หรือ $Celo ให้กันได้ โดยใช้เบอร์โทรศัพท์เป็น Public Key ในการส่งถึงกัน ซึ่งในปัจจุบัน Valora รองรับ Stable Coin สองชนิดคือ cUSD และ cEUR
ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าหรือบริการกับร้านค้าที่รองรับ Valora Wallet โดยเสียค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก ซึ่งทาง Valora เคลมไว้ว่ามันคือ “Near Zero Fees” เลยทีเดียว ทุกวันนี้ Valora สามารถใช้งาน cUSD ในสหรัฐอเมริกาได้แล้ว ยกเว้นรัฐ Alaska, Hawaii, Louisiana, Nevada, New Mexico, New York, Washington และ Vermont
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกระเป๋าเงิน Valora มากกว่า 1 ล้านรายจาก 113 ประเทศทั่วโลก
– Supercharge Program – มาลองใช้กระเป๋า Valora พร้อมรับดอกเบี้ยสูงสุดถึง 50%
Valora ได้ทำ Marketing โดยการให้เรามาลองใช้กระเป๋าของเขา โดยขั้นต่ำที่เราจะได้เข้าร่วม Supercharge Program คือ 10 cUSD โดยทาง Valora จะคำนวนยอดเงินคงเหลือในบัญชีเป็นรายสัปดาห์ และจ่ายผลตอบแทนเป็นรายสัปดาห์เข้า Wallet ของเรา และถ้าฝากขั้นต่ำ 1,000 cUSD ก็จะได้รับดอกเบี้ยสูงสุดถึง 50% ไปเลย
แต่โปรแกรมนี้มีระยะเวลาจำกัดนะครับ สำหรับท่านใดสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Supercharge Program สามารถอ่านต่อได้ที่ : https://valoraapp.com/blog/supercharge-your-crypto-wallet
– Ubeswap และ Moola – แพลตฟอร์ม DeFi แห่งแรกบนโทรศัพท์มือถือ
Ubeswap (DEXs) และ Moola (Lending & Borrowing) สามารถใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพียงแค่เข้าแพลตฟอร์มเหล่านี้ผ่านทาง Browser ในมือถือของตัวเอง สร้างกระเป๋า Valora ให้เรียบร้อย ก็สามารถใช้งานได้แล้ว ทำลายกำแพงข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึง DeFi สำหรับคนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ได้เลย
ซึ่ง Ubeswap และ Moola ต้องเข้าแพลตฟอร์มเหล่านี้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเท่านั้นนะ ตัวแพลตฟอร์มถึงจะโชว์ APY ที่เราจะได้ต่อปี แต่ก็สามารถใช้ได้ผ่านคอมพิวเตอร์เช่นกัน เพียงแค่มันจะไม่แสดงผล APY ในหน้า Dashboard เท่านั้น
3) ทำไม Celo ถึงน่าสนใจ?
– ผู้ก่อตั้งมากประสบการณ์
Celo ได้รวบรวมผู้มากประสบการณ์จากสถาบันยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Google, Visa, Square, Circle, MIT, Stanford, Harvard, University of Pennsylvania, และ FED เรียกได้ว่าการีนตีบุคลากรคุณภาพทั้งนั้น
– Venture Capital ยักษ์ใหญ่ในวงการ
VC เจ้าใหญ่ๆในวงการที่ได้ร่วมลงทุนกับ Celo ได้แก่ a16z, Coinbase, Jack Dorsey (Twitter), Polychain Capital, Social Capital, Reid Hoffman (CEO ของ LinkedIn), Naval Ravikant (อดีต CEO ของ AngelList) ซึ่ง VC เหล่านี้ได้เคยร่วมลงทุนกับโปรเจคยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Airbnb, Pinterest, Coinbase, Twitter, Instagram, Skype
– Carbon Negative Blockchain
Celo Blockchain ที่มีการยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Stake ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการประหยัดพลังงานอยู่แล้วนั้น ได้เป็นพันธมิตรร่วมกับ Wren ซึ่งเป็นบริษัทที่คำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดย Wren ได้มีการสนับสนุนเงินทุนให้กับโปรเจคที่มีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และ Celo ก็เป็นหนึ่งในโปรเจคที่ได้รับเงินสนับสนุนอีกด้วย
Celo Blockchain มีความตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนโดยมีการชดเชยคืนรายวันคืนให้แก่โปรโตคอล โดยได้มีการให้เงินทุนสนับสนุนแก่ชุมชนเกษตรกรกว่า 100,000 คนช่วยปลูกต้นไม้
การปลูกต้นไม้เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ของชุมชน ประโชยน์ตรงนี้จึงทำให้ชุมชนได้รับเงินสนับสนุนจาก Wren และเงินสนับสนุนที่ได้มานี้ก็จะมีการคืนให้กับ Celo และ Celo ก็ได้คืนกลับสู่ Wren อีกด้วยเช่นกัน
สรุปแล้ว การคืนเงินทุนให้แก่ Wren เพื่อชดเชยมลพิษนั้น จึง Assume ได้ว่า Celo นั้นปลอดคาร์บอนไดออกไซด์มาตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจคนั่นเองครับ โดย Celo ได้มีการชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 2,679 ตัน ณ วันที่เขียนบทความ ซึ่งเท่ากับการเดินแทนการขับรถยนต์ถึง 10 ล้านกิโลเมตรเลยทีเดียว
โดยสามารถดูอัตราการชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ของ Celo ได้ที่ : https://www.wren.co/profile/celo
– Partner กับแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Aave, Curve, SushiSwap
มูลนิธิ Celo ได้มีการจัดตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์ม De-Fi โดยมี Aave, Curve, SushiSwap, 0x, UME, PoolTogether และโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Chainlink, RabbitHole, The Graph และ Wrapped.com เข้าร่วมการเป็นพาร์ทเนอร์ในโปรเจคนี้อีกด้วย
และกองทุนมูลค่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็จะถูกแจกจ่ายเป็น Incentive Rewards ให้กับผู้ที่มาใช้งานในแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ดังกล่าว โปรเจคจะมีการจ่าย Rewards ให้กับผู้ที่มาฝากสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ได้แก่ Aave จำนวนทั้งสิ้น $20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ, SushiSwap จำนวน $10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ, Curve จำนวน $14 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มาเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SushiSwap ก็จะได้รับ Rewards เป็น $Sushi ซึ่งเป็น Governance Token ของ SushiSwap และ $Celo ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคในการแจก Rewards ให้กับผู้ที่มาใช้งาน เป็นต้นครับ
ถ้ามีข้อมูลส่วนไหนผิดพลาด หรืออยากเพิ่มเติมข้อมูลส่วนไหน คอมเมนต์มาได้เลยนะครับผม
มีเรื่องเล่าให้ฟังอีกเพียบเลย เดี๋ยวเด้นจะมาเล่าให้ฟังอีกวันหลังนะ
“Not financial advice”
“Do Your Own Research”
“ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน”
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://siamblockchain.com/…/tokens-that-grow-50-in…/
https://www.blockdit.com/posts/60d866731c3ea70c898db6ce
https://medium.com/celoorg
https://medium.com/…/aave-curve-pooltogether-and-sushi…
https://medium.com/…/a-carbon-negative-blockchain-its…
https://medium.com/…/celo-to-go-carbon-neutral-with…